รักษากายพอประมาณ รักษาจิตให้มาก
เป็นธรรมดาที่สังขารร่างกายของเรา จะต้องเดินไปสู่ความเสื่อมความสลาย แม้จะป้องกันแก้ไขอย่างไรก็เป็นแต่ยืดเวลาออกไปเท่านั้น ที่จะห้ามไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายเลยนั้นไม่ได้ ฉะนั้น จึงให้มุ่งเอาจิตเป็นสำคัญ คือบำรุงรักษาร่างกายพอประมาณ แต่บำรุงรักษาจิตให้มากๆ เป็นการหาสาระจากสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารนั้นๆ ให้มากที่สุดที่จะทำได้ คือให้เร่งรัดบำเพ็ญกุศลเต็มสติกำลัง ทั้งทาน ศีล ภาวนา แม้ร่างกายจะแก่ จะแตก จะตาย ก็ไม่วิตกกังวล เพราะสมบัติดี ๆ มีไว้ เตรียมไว้แล้ว
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
ผู้ภาวนาย่อมรู้จักทุกข์
เมื่อผู้ใดมาภาวนา ทวนกระแสจิตเข้ามาภายใน มากำหนดรู้กายรู้จิตนี้อยู่ ก็ย่อมรู้จักทุกข์ เพราะร่างกายนี้มันแปรปรวนอยู่เรื่อยไป ไม่คงที่ แล้วจิตก็อาศัยอยู่ในร่างกายอันนี้ เมื่อร่างกายอันนี้มันแปรปรวนไป มันกระทบกระทั่งกับจิต จิตก็มีความรู้สึกเปลี่ยนแปลง ไม่ปกติ วุ่นวาย ถ้าจิตของท่านผู้รู้ทั้งหลายแล้ว ท่านไม่หวั่นไหว เพราะท่านรู้ว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อมันแปรปรวนไปก็เป็นเรื่องของมัน เราก็บังคับมันไม่ได้ หน้าที่ของจิตก็มีแต่กำหนดรู้เท่าตามความเป็นจริงอยู่เท่านั้นเอง เราจะไปบังคับให้มันเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ได้เลย
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
อานิสงส์จากการภาวนา
การอบรมภาวนาทางปัญญา จึงเป็นเรื่องละถอนกิเลส ตัณหา อาสวะ ที่มีอยู่ในจิตในใจ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝึก จะอบรมจิตใจของตนได้ หากเราตั้งใจ เห็นว่าเป็นของจำเป็นจริงจัง แต่ถ้าไม่ทำก็จะไม่เกิดประโยชน์ เกิดมาไม่ทำภาวนาเลย มันก็แก่ ก็ตายเหมือนกัน ผู้ทำภาวนา ถึงแก่ ถึงตาย จิตใจของท่านไม่มีการหวั่นไหว ไม่มีการเสียดายชีวิต ไม่ถือว่าเกิดมาเป็นโมฆะ ท่านมีความสุขความสบายในจิตในใจของท่าน ถึงกายมันจะแตกสลายไปเหมือน ๆ กัน แต่จิตใจท่านไม่หวั่นไหว ไม่ลุ่มหลง นี่คือ...อานิสงส์เกิดจากการภาวนา
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร