จงอย่าหวั่นไหวต่อความเป็นไปของโลก
จงอย่าหวั่นไหวต่อความเป็นไปของโลก โลกต่อไปจะเป็นไฟ เราจงทำใจเป็นน้ำ ใช้คำว่าช่างมัน ช่างมันตลอดไป เขาให้ทำ-เราทำ เขาสั่งหยุด-เราหยุด นี่เป็นภาวะของโลก แต่เรื่องทำใจให้เป็น ต้องทำตลอดไป รักษาอารมณ์รู้จักตาย รู้ว่าโลกเป็นของสลายตัว เท่านี้พอ แล้วก็จะเข้าถึงพระนิพพานได้
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
สุขที่มั่นคงนอกเหนือจากกาย
กายกับจิตมิใช่อันเดียวกัน ถ้าเรายึดกายเป็นของเรา เวลากายมันคร่ำคร่าทรุดโทรม เราก็ทรุดโทรมไปด้วย ความสุขที่มีอยู่ในร่างกายก็พลอยหายทรุดโทรมอันตรธานไปด้วย เพราะฉะนั้น ความสุขที่เกิดขึ้นจากกาย หรือที่มีอยู่ในกายที่เราห่วงนั้น เป็นอันว่าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน...ไม่มั่นคง มีความสุขที่มั่นคงนอกเหนือจากกายมีอยู่ คือการอบรมจิตให้สงบ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
คาถากันความทุกข์
คาถากันความทุกข์
เมื่อได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ให้เสกคาถาว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เมื่อสิ่งเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปจะได้ไม่ทุกข์ใจ
หลวงปู่จันทร์ กุสโล
รักษาอารมณ์จิตให้เป็นสุขเท่านั้นพอ
ร่างกายที่เห็นอยู่นี้มีความไม่เที่ยงอยู่เป็นนิจ แต่ตราบใดที่มันยังไม่ตาย ก็มีความจำเป็นจักต้องดูแลไปตามหน้าที่ แต่มิใช่ห่วงใยให้มากจนเกินไป ให้ทำจิตวางอารมณ์พอสบาย ๆ จักได้ไม่ทุกข์ ไม่กังวลจนเกินไป แล้วทำทุกอย่างไปตามหน้าที่ รักษาอารมณ์จิตให้เป็นสุขเท่านั้นพอ ดูอนาคต ดูได้เตรียมได้ แต่ไม่ควรกังวล รักษาจิตให้อยู่กับปัจจุบันเท่านั้นเป็นพอ พอหรือไม่พอให้ดูอารมณ์ดิ้นรนของจิต ผู้รู้ ผู้ไม่ประมาท จักพร้อมทั้ง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่เขาไม่ทุกข์ อะไรเกิดก็พร้อมรับทั้งกาย-วาจา-ใจ ด้วยความรู้และความไม่ประมาท
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
วิ่งตามโลก มองไม่เห็นโลก
ขณะใดที่เราวิ่งไปตามโลก
เราจะมองไม่เห็นโลกได้ถนัดนั้น
เราจำเป็นต้องหยุดวิ่งเสียก่อน
แล้วเราจึงจะมองเห็นโลกได้ชัดเจน
เมื่อโลกหมุนและเราก็หมุนด้วยอย่างนี้
จะมองเห็นกันอย่างไร
ท่านพ่อลี ธัมมธโร
ภาวนา ไม่ต้องคาดหวัง
การปฏิบัติถ้าอยากให้มันเป็นเร็ว ๆ มันก็ไม่เป็น หรือไม่อยากให้เป็นมันก็ประมาทเสีย เลยไม่เป็นอีกเหมือนกัน...อยากเป็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเป็นก็ไม่ว่า ทำใจให้เป็นกลาง ๆ ตั้งใจให้แน่วแน่ในกรรมฐานที่ตั้งไว้ ภาวนาเรื่อยไป เหมือนกับเรากินข้าวไม่ต้องอยากให้มันอิ่ม ค่อย ๆ กินไปมันก็อิ่มเอง...ภาวนาก็เช่นกัน ไม่ต้องไปคาดหวังให้มันสงบ หน้าที่ของเราคือภาวนาไป ก็จะถึงของดีของวิเศษในตัว แล้วเราจะรู้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร ให้หมั่นทำเรื่อยไป
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
ความสุขที่แท้คือปัญญาความรอบรู้ในกองสังขาร
ความสุขที่แท้จริงนั้นได้แก่
ปัญญาความรอบรู้ทั้งหมด
ในกองสังขารตามความเป็นจริงทุกสิ่ง
แล้วก็วางหมดไม่มีเหลือ
หมายความว่ารู้หมด วางหมดนั่นเอง
รู้แล้วก็ยึดเอาไว้ ไม่ได้ปล่อยได้วางไป
มีแต่เก็บกำเอาไว้ไม่วาง
นี้แหละคือทุกข์ตัวจริง มันเป็นอย่างนี้
หลวงปู่คูณ สิริจันโท
อารมณ์ต้องรู้เท่าทันและกำจัด
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ดีร้ายทั้ง ๖ นี้ เป็นผู้มาทีหลัง เป็นของผ่านไปมา เป็นของสมมุติ เป็นของปลอม ไม่ใช่ของจริง เป็นของร้อน เป็นของหนัก ถ้าจิตเราไปคิดเอาเป็นจริงก็ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ผิดหวังเป็นทุกข์ใจมิได้หยุดหย่อน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ทั้งหลายเป็นของสกปรก ของชั่วคราว เป็นฝ่ายดำ เป็นสิ่งที่เราจะต้องรู้เท่าทัน และกำจัดออกจากจิตทันที คือให้ว่างเปล่าจากของที่เป็นทุกข์เป็นโทษ จิตจะอยู่ว่างเปล่าเฉยๆ ไม่ชิน ก็นึกถึงพระคุณความดีขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า นึกถึงฝั่งแดนทิพยนิพพานเป็นสุขเลิศล้ำ นึกถึงร่างกายสมมุตินี้ตายโดนเผาทิ้งแน่นอน แบบนี้จิตจะว่างจากของหนัก ว่างจากความเครียด ความฟุ้งซ่าน ความวุ่นวายหรือปลอดภัยจากอันตรายได้
หลวงปู่ดาบส สุมโน
ความคิดพยาบาท ผลกรรมปรากฏทันที
ความคิดอาฆาตพยาบาทจองเวรนี่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ให้หยาบคาย นั่นแหละคือผลกรรมที่ปรากฏทันที ผู้ที่ทำสิ่งใดทางกาย วาจา หรือใจ ด้วยอำนาจของกิเลส ชื่อว่ากำลังเบียดเบียนตัวเองอย่างยิ่ง เพราะถอยห่างออกไปจากความสุขที่แท้จริง นั้นคือวิบาก การทำบาปแต่ละครั้งคือทำให้บันไดที่เราต้องปีนขึ้น สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
ตัวเราคือแก้วสารพัดนึก
อย่าไปให้ความสำคัญ กับของขลังภายนอก
ยิ่งกว่าทำจิตของเรา ให้เป็น "พระ"
ตัวเรานั่นแหละ เป็นแก้วสารพัดนึก
หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร
สติบำรุงเลี้ยงจิตใจ..
น้ำฝนช่วยบำรุงเลี้ยงร่างกายได้ดีกว่าน้ำหวานฉันใด
สติก็บำรุงเลี้ยงจิตใจได้ดีกว่าความคิดปรุงแต่ง
ที่น่าเพลิดเพลินยินดีมีสีสันฉันนั้น
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
อย่าคิด อย่ามองคนอื่นในแง่ไม่ดีเด็ดขาด
อย่าคิด อย่ามองคนอื่นในแง่ไม่ดีเด็ดขาด เขาจะดีจะชั่วก็เป็นเรื่องของเขา ต่างก็มีกรรมเวรเป็นของตน ไม่ต้องสนใจใคร หากสนใจความไม่ดีของคนอื่น ระวังตัวเราเองอาจจะต้องลงอเวจี ปฏิบัติมาถึงป่านนี้แล้ว ใครทำไม่ดีกฎของกรรมลงโทษเอง ระวังจิตของเราให้ดีที่สุด ทำจิตให้สะอาด เอาจิตที่ดียกไปไว้บนพระนิพพาน มีพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในใจตลอดเวลาที่มีลมหายใจเข้าออก
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
เอาจิตเกาะไว้ที่กาย
ขอให้ตั้งสติตามรู้กาย นั่งอยู่ก็ให้รู้ตัวว่านั่ง... ยืนก็ระลึกรู้กายอยู่ว่าขณะนี้กายกำลังยืนอยู่...กายนอนก็มีสติระลึกรู้อยู่ที่กายที่กำลังนอน จิตมาเกาะไว้ที่กายนี่ ก็จะทิ้งอารมณ์ภายนอกเพราะจิตมีที่อยู่ เอาจิตมาอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน จิตจะมีความสงบ มีความสุข มีปีติ เบากาย เบาใจ ถ้าจิตไม่มีที่เกาะ ไม่มีที่อยู่ จิตก็จะแล่นไปหลุดลอยไป ไหลไปเรื่องอดีต อนาคต... แล้วก็ทุกข์เศร้าหมอง เรียกว่าไม่อยู่ในถิ่นของบิดา แล่นไปสู่อารมณ์ต่างๆ เหล่านั้น ส่งใจออกนอก
พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี
ผู้จะเข้าถึงความสำเร็จของชีวิต
บุคคลที่ทนในสิ่งที่คนอื่นทนได้ยาก ทำในสิ่งที่คนอื่นทำได้ยาก บุคคลนั้นจะเข้าถึงความสำเร็จของชีวิต ความอดทน ความขมขื่นจะเกิดขึ้นในเบื้องต้นของการทำความดี แต่จะได้รับความชื่นชมในบั้นปลาย
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
การปฏิบัติ อย่าอยากเห็น
การปฏิบัติให้ปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อความคลายกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์ วิมาน หรือแม้พระนิพพาน ก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานมันเป็นของว่าง ไม่มีตัวตนหาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
หัวใจเราหลอกตัวเอง
สิ่งใดเป็นข้าศึกต่อจิตใจ แต่ใจชอบคิด ชอบใฝ่ฝัน พึงทราบว่า นั่นคือการวิ่งตามกระแสของโลก คำว่าโลก ไม่ได้หมายถึงใคร แต่หมายถึงหัวใจของเราโดยเฉพาะ หัวใจย่อมหมุนเวียนต่อตนเองและหลอกลวงตนเองเสมอ โดยยึดสิ่งแวดล้อมภายนอกมาเป็นวัตถุตัวเหตุ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ที่อยู่ของจิตที่หาง่าย
ที่อยู่ของจิตที่หาง่าย
คือลมหายใจ
เพียงคอยตามรู้อยู่
หายใจเข้า หายใจออก
ยาวหรือสั้น
พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี
เมตตาธรรมประเสริฐสุด
การที่เราคิดจะทำอะไรที่หวังเกื้อกูลผู้อื่น อาตมาบอกว่าเหนื่อยเท่าไรอย่ากลัว เพราะหนทางนี้ประเสริฐสุดแล้ว การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ จุดมุ่งหมายคือการเกื้อกูล ไม่มีเหตุผลอื่นเลยนะ แม้แต่การบำเพ็ญบารมีของพระมหาโพธิสัตว์ จนถึงที่จะสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ ก็ยังมีความปรารถนาหวังเพียงการเกื้อกูล
พระอาจารย์สมชาติ ธมฺมโชโต
จิตเราไม่ชอบอยู่นิ่ง
จิตเราไม่ชอบอยู่นิ่ง มักจะวิ่งแส่ส่ายไปมาตลอดเวลา
เราจึงคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้หยุดหย่อน
พระพุทธองค์ทรงสอนให้เรารู้จักรักษาจิตของเรา
ให้อยู่แต่ในที่ที่คุ้นเคย อยู่ในถิ่นของพระบิดา
จะได้ไม่ถูกกิเลสชักนำให้ไปในทางที่ผิด
ลมหายใจ คือ สถานที่ที่หาง่ายและคุ้นเคยกับเราที่สุด
เพียงแค่คอยตามรู้ลมหายใจเข้า ออก สั้น ยาว
พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี
รู้ธรรมมาก แต่ปฏิบัติน้อย..
..นกน้อยทำรังแต่พอตัว มีแค่นี้ใช้แค่นี้
ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ ธรรม
รู้น้อย แต่ทำให้มันได้
รู้ธรรมมาก แต่ปฏิบัติน้อย
ไม่เข้าท่า..
หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
ความไม่สวยงามในร่างกาย ผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะรู้
ความไม่สวยงามในร่างกายนี้ ผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะรู้ เห็นตามความเป็นจริง ธรรมชาติเดิมของร่างกายแล้ว ไม่มีสิ่งใดเป็นของสวยงาม มีแต่สิ่งสกปรกโสโครก... ความสวยงามนั้นมีอยู่ที่กิเลส สังขาร โมหะ อวิชชา มีความเข้าใจผิด รูปนั้นจึงมีความสวยงาม รูปสวยงามเพราะความรัก รูปสวยงามเพราะความยินดี รูปสวยงามเพราะความใคร่ รูปสวยงามเพราะมีความกำหนัด ถ้าจิตไม่มีความรัก ความใคร่ ความกำหนัดแล้ว รูปนั้นจะไม่มีสิ่งใดเป็นของสวยงามเลย
หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
เห็นโทษของร่างกาย...เห็นธรรม
ร่างกายของเราท่านว่าเป็นมหาภูตรูป...ภูตก็คือผี...ทำความเดือดร้อนให้แก่ตัวเราอยู่ตลอดกาล ต้องได้เลี้ยงได้เซ่นได้สรวงมันอยู่ตลอดกาลเวลา...อาหารก็พยายามตกแต่งดีๆ มาทนุถนอมประจบประแจงมัน...ผ้าดีๆ ก็หามาให้นุ่ง...แต่มันก็ไม่รู้คุณ...มีแต่จะบีบบังคับ ก่อความทุกข์ความร้อนให้แก่จิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา...นี่คือการพิจารณาให้เห็นโทษของร่างกาย... ให้เรากำหนดพิจารณาอย่างนี้ จิตของเรามันจึงจะสงบ ...เกิดความสลดสังเวช...เกิดความเบื่อหน่าย...ละวางอุปาทาน ความยึดความถือในร่างกายนี้ ...จิตของเราตั้งอยู่ในความสงบได้ ปัญญาก็จะเกิดขึ้น พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย ก็จะเห็นเป็นความจริงขึ้นมา...
พระอาจารย์วัน อุตตโม
อย่าไปมองว่าคนนั้นดี คนนั้นเลว
อย่าไปมองว่าคนนั้นดี คนนั้นเลว
คนนั้นเกลียดเรา คนนั้นรักเรา
ถ้าเรามองในแง่อย่างนี้
เราจะหลงไปในทิศทางมืด
ถ้าเราวางความรู้สึกของเราในสภาพว่า
เป็นสภาวะธาตุ สภาวะขันธ์
มันเป็นกฎธรรมชาติแล้ว
จะทำให้เรามีอารมณ์เป็นปกติ…
หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม
พิจารณาความตาย บรรลุโสดาบันได้
เราพิจารณาความตายทุกวันนี่นะ
สามารถบรรลุพระโสดาบันผลได้
แค่พิจารณามรณานุสตินี่แหละ
พิจารณาว่าร่างกายนี้ไม่ใช่จิตนี้
จิตนี้ไม่ใช่ร่างกายนี้
ร่างกายนี้มีความไม่เที่ยงเกิดขึ้นมาแล้ว
ย่อมมีความตายเป็นที่สุด
พิจารณาแค่นี้
พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตโต
เรากลับละทิ้งความสุขที่มีอยู่รอบตัว
ความสุขนั้นมีอยู่รอบตัว แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น เพราะใจจดจ่อแต่ความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า ผลก็คือขณะที่ความสุขข้างหน้ายังมาไม่ถึง เรากลับละทิ้งความสุขที่มีอยู่รอบตัว ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของเราโดยชอบธรรม กลายเป็นว่าเสียสองต่อ
พระไพศาล วิสาโล
ทำให้เห็นแจ้งออกมา
...เมื่อสิ่งเหล่านี้ มีอยู่ในเราแล้ว เรื่องของมันก็คือ ทำให้เห็นแจ้งออกมา ไม่ใช่เที่ยววิ่งแสวงหา...
ท่านเว่ยหล่าง
ไม่ให้อภัยคืออยากเกิดอีก
การให้อภัยเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะว่าการตอบโต้ ไม่ว่าจะด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจก็ตาม เป็นการสร้างกรรมต่อ ท้ายสุดกรรมนั้นก็จะย้อนมาสู่ตัวเอง ในเมื่อเขาสร้างกรรม เราไม่รับ ถึงวาระมันบรรจบครบรอบ คนสร้างก็รับไปเอง แต่ถ้าหากเราไปรับแล้วตอบโต้ ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ต่อกรรมสืบเนื่องกันไป ไม่มีที่สิ้นสุด ก็แปลว่ายังยินดีที่จะเกิดต่อ
หลวงพี่เล็ก สุธมฺปญฺโญ
ยิ่งปฏิเสธความจริง ยิ่งทุกข์
เมื่อประสบเหตุร้าย เราเลือกที่จะไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าวางใจให้เป็น ทีนี้จะวางใจอย่างไร ?? อย่างแรกที่ควรทำก็คือ “การยอมรับความจริง” เมื่อเกิดอะไรขึ้นแล้ว ป่วยการที่เราจะไปตีโพยตีพายว่าทำไมถึงต้องเป็นฉัน ป่วยการที่จะไปโทษชะตากรรม หรือโทษคนนั้นคนนี้ ยิ่งตีโพยตีพาย หรือยิ่งปฏิเสธความจริง เราก็ยิ่งทุกข์ !!!
พระไพศาล วิสาโล
การให้อภัยเป็นเรื่องยาก
การให้อภัยเป็นเรื่องยาก แต่การมีชีวิตด้วยจิตใจที่โกรธแค้นพยาบาท กลับเป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่า
พระไพศาล วิสาโล
ให้ทุกข์แค่ตอนทุกข์
ต่อให้ทุกข์ที่สุด... ก็ต้องผ่านพ้นไปจนได้
เมื่อเรานั่งมองอดีต เรายังผ่านทุกข์มาได้ตั้งหลายทุกข์
ในเมื่อ... ชีวิต... มันยังมีชีวิต
ขอแค่อย่าทุกข์ก่อนเจอทุกข์
หลังทุกข์ อย่าทุกข์อีก
ให้ทุกข์ แค่ตอนทุกข์
แล้วทุกข์ที่สุด... ก็จะเป็นทุกข์แค่นี้เอง
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
ผู้ยึดมั่นถือมั่นนั้นยังเดินผิดทาง
ผู้ยึดมั่นถือมั่นนั้นยังเดินผิดทาง
ผู้ปล่อยผู้วาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น คือ ยอดมนุษย์
ก้าวขาไม่หยุด ไปสิ้นสุดในแดนนิพพาน
สุขสำราญเป็นที่หนึ่ง ถึงแล้วบรมสุข
หลวงปู่สาย เขมธัมโม
วิธีแก้ความโกรธ
ให้หาภาพพระพุทธรูป หรือพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งที่เราเคารพนับถือ อัดขยายภาพให้ใหญ่แล้วใส่กรอบตั้งไว้ในที่ที่เหมาะสม และเราสามารถมองเห็นได้บ่อยๆ แล้วนั่งมองดูทุกวันๆ พอเวลาโกรธใครก็ให้นึกถึงหน้าท่าน แล้วอารมณ์โกรธก็จะหายไปเอง ให้ทำเช่นนี้เรื่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชิน พอเกิดอารมณ์โกรธปั๊บก็ให้เห็นหน้าท่านปุ๊บ กลายเป็นสมาธิเลย
หลวงตาม้า(วรงคต) วิริยธโร
ให้องอาจต่อความตาย
ข้อสำคัญซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ต้องการจะให้มีในพุทธบริษัทนั้นคือ ให้เป็นผู้องอาจต่อความตาย แต่ไม่ใช่ให้อยากตายจนถึงต้องประหารตัวเอง คำที่ว่าให้มีความองอาจต่อความตายนั้น หมายความว่าให้รู้ คือรู้ว่าเราเป็นคนตายอยู่เสมอๆ แล้วจะต้องมานั่งหวั่นไหวอะไรกับความตาย
หลวงปู่จันทร์ สิริจนฺโท
ธรรมของพระพุทธเจ้ามีในตน
โอวาทคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นไม่ได้มีอยู่ในที่อื่น ไม่ได้มีในลานหรือกลางป่ากลางดงอะไร จะเป็นพระสูตร หรือพระวินัย พระปรมัตถ์ ก็มีอยู่ในตนของตนทั้งสิ้น
หลวงปู่จันทร์ สิริจนฺโท
การปฏิบัติดี ต้องออกมาจากใจ
การปฏิบัติดี ต้องออกมาจากใจ การที่เราเที่ยวฟังพระอาจารย์ทั้งหลายพูดว่าสิ่งนั้นดี ไม่ดี แล้วจดจำเอามาทำนั้นไม่ยั่งยืน เพราะเอามาวันนี้ พรุ่งนี้อาจจะลืมไปแล้วก็ได้ ดังนั้นควรหัดปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้ดีเสียเอง ทีนี้ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะลืม เพราะเรามีอยู่กับใจแล้ว
หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร
อริยะไม่ได้อยู่ที่ผม อยู่ที่จิต
ศีล ๕ ก็เข้าโลกุตระได้ ศีล ๘ ก็เข้าโลกุตระได้ ศีล ๑๐ เป็นเณรอรหันต์ได้ มันถึงได้ทั้งหมดแหละ โกนผมก็ได้ ไม่โกนผมก็ได้ มันไม่ได้อยู่ที่ผมนั่นหรอก มันอยู่ที่จิต
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
อาวุธต่อสู้มัจจุราชคือสติ
ทุกคนจะต้องเข้ามหายุทธสงครามสักวันหนึ่ง คือการต่อสู้กับมัจจุราช เมื่อถึงเวลานั้นแต่ละคนจะต้องสู้เพื่อตนเอง และต้องสู้โดยลำพัง ผู้ที่สู้ได้ดีก็จะไปดี คือไปสู่สุคติ ผู้ที่เพลี่ยงพล้ำก็จะไปร้าย คือไปสู่ทุคติ อาวุธที่ใช้ต่อสู้มีเพียงสิ่งเดียว คือ "สติ" ซึ่งจะสร้างสมได้ด้วยการ เจริญภาวนาเท่านั้น
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
เราทุกข์เพราะติดสุข
ตัวความทุกข์ของคนที่แท้จริง
มันอยู่ที่ใจเราติดสุขติดสบาย
ท่านถึงให้เราแยกออกจากกัน
เพราะกายมันแก่ มันเจ็บ มันตาย
แต่ใจเป็นตัวรู้
ใจของเรามันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราเข้มแข็ง
ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
การเถียงกันเพิ่มอัตตาตัวตน
การเถียงกัน ย่อมหมายถึง ความดิ้นรนจะเป็นฝ่ายชนะ ย่อมเสริมกำลังให้แก่ความยึดมั่น ถือมั่นว่า ตัวตน และย่อมจะผูกพันเราไว้กับความยึดถือ ด้วยความสำคัญว่าตัวตน ว่าสัตว์ ว่าชีวะ ว่าบุคคล
ท่านเว่ยหล่าง
ไม่ต้องโกนหัวก็เป็นพระได้
... เราก็มาหัดเป็นพระกัน
พ่อออก (อุบาสก) ก็เป็นพระ
แม่ออก (อุบาสิกา) ก็มีใจเป็นพระ
บ่ต้องโกนหัวบวชก็เป็นพระได้
เป็นพระอยู่ที่ใจ จิตใจมันเป็นพระ
สร้างให้อุดมสมบูรณ์ ให้มันเกิดให้มันมีขึ้น
นั่นแหละหลักพุทธศาสนา มันเป็นอย่างนั้น...
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
การภาวนาคือ การลดความโง่ของตัวเอง
การภาวนาคือ การลดความโง่ของตัวเอง ผู้ที่หาว่าไม่มีเวลาภาวนา คือผู้ที่ถือว่าไม่มีเวลาลดความโง่ของตัวเอง
ชยสาโรภิกขุ
ถ้าใจคิดว่าไม่ดี ก็เหมือนแช่งตัวเอง
จำเอาไว้ว่า...เรื่องทั้งหลายจะแย่ก็เพราะเราไปกังวล ถ้าใจเราดี ทุกอย่างก็ดีหมด ถ้าใจเราไปคิดว่าไม่ดี ก็เหมือนกับแช่งตัวเอง เลยพลอยไม่ดีไปด้วย เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ส่วนที่สำคัญที่สุด ก็คือ กำลังใจของเรา เขาเรียกว่า "มโนมยา สำเร็จด้วยใจ" ไปคิดว่าไม่ดี ๆ ๆ เดี๋ยวก็เจ๊ง เพราะกลายเป็นแช่งตัวเอง
หลวงพี่เล็ก สุธมฺปญฺโญ
เลิกยึดกายเสียบ้าง
เลิกยึดกายเสียบ้าง ปล่อยวางเสียที เขาเป็นธาตุ ๔ ไม่ใช่ตัวเรา เขาไม่เที่ยง เรื่องของเขา ให้เราปล่อยมือ อย่าถือให้หนัก เมื่อรู้จักความจริงว่ามันไม่เที่ยงตามเรื่องของสังขาร ไม่ยึดมันนั้นถูกทางแท้
หลวงปู่สาย เขมธัมโม
ติดที่ไหนเป็นกิเลสที่นั่น
อยู่บ้านอย่าติดบ้านนะ อยู่วัดอย่าติดวัดนะ อยู่ถ้ำอย่าติดถ้ำนะ ติดที่ไหนเป็นกิเลสที่นั่น ถ้าหลุดแล้วไม่มีกิเลสหรอก ให้หยุดซะอย่าคิด ภายนอกก็ธุดงค์ ภายในก็ธุดงค์ อยู่วัดก็ทำได้ อยู่ป่าก็ทำได้ อยู่ในกายก็ทำได้ อยู่นอกกายก็ทำได้ คนฉลาดต้องทำอย่างนี้ ที่ใกล้ก็ได้ ที่ไกลก็ได้ ศาสนธรรม คือ อยู่ที่ตาธรรม หูธรรม จมูกธรรม ลิ้นธรรม วาจาธรรม ใจธรรม ศาสนาอยู่ที่กายยาววา หนาคืบ กว้างศอกนี้เอง
เห็นเป็นกลางทั่วไปทั้งภายในและภายนอก ผู้ปฏิบัติต้องเห็นอย่างนี้เรียกว่าเห็นธรรม
หลวงปู่บุดดา ถาวโร
โลกเป็นที่อาศัยชั่วคราว
สุขโลกีย์มีเพียงชั่วคราว ถ้ามุ่งความสุขยืนยาว ต้องปฏิบัติธรรม
เหตุผลก็เพราะว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นที่อาศัยชั่วคราว
ที่อยู่ยืนยาว คือ ปรโลกต่างหาก
โลกีย์ทรัพย์ กล่าวคือ รูป รส เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็พึ่งได้เพียงชั่วคราว
สิ่งที่จะใช้ยืนยาวคือ อริยทรัพย์ อันได้เเก่ศรัทธา ศีล
หิริ โอตัปปะ พหุสัจจะ จาคะ เเละ ปัญญาในทางธรรมสำคัญกว่า
หลวงปู่บุญกู้ อนุวฑฺฒโน
เรามองข้ามตัวเองเสมอ
...ปกติใจเรา ก็นึกแต่ให้เขาละความชั่ว
คนอื่นที่ทำให้เราไม่ถูกใจ เราก็อยากให้เขาเปลี่ยน
เราไม่คิดจะเปลี่ยนตัวเอง เรามองข้ามตัวเองเสมอ...
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
บางครั้งการสูญเสียเป็นสิ่งดี
อย่าเข้าใจว่าสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต คือสิ่งที่เราจะต้องได้มา
บางครั้ง บางโอกาส
การสูญเสียหรือการเสียสละ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดก็ได้
พระอาจารย์สมชาติ ธมฺมโชโต